วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

  
               เมื่อกล่าวถึงศักดิ์ของกฎหมาย(Hierachy of law)  หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าศักดิ์ของกฎหมายมีความหมายว่าอย่างไร มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหนต่อกฎหมาย โดยทั่วไปในทางวิชาการ มีผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ความหมาย ศักดิ์ของกฎหมายไว้ว่า ลำดับชั้นของกฎหมาย [1]  หรืออีกนัยหนึ่งคือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันของกฎหมายแต่ละฉบับนั้น พิจารณาได้จากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย หมายความว่ากฎหมายแต่ละฉบับจะมีชั้นของกฎหมายในระดับนั้น  ให้พิจารณาจากองค์กรที่ออกกฎหมายฉบับนั้น
              ตัวอย่างเช่น  รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายที่ออกโดยองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของประเทศ คือ รัฐสภา  แต่บางกรณีอาจมีองค์กรอื่นเป็นผู้จัดให้มีกฎหมายในระดับรัฐธรรมนูญได้ เช่น คณะปฏิวัติออกรัฐธรรมนูญการปกครอง ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว [2]  เป็นต้น

              การจัดศักดิ์ของกฎหมาย มีความสำคัญต่อกระบวนวิธีการต่างๆ ทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้  การตีความ  และการยกเลิกกฎหมาย เช่น  หากกฎหมายฉบับใดมีลำดับชั้นของกฎหมายสูงกว่า กฎหมายฉบับอื่นที่มีลำดับชั้นต่ำกว่า จะมีเนื้อหาของกฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายที่มีลำดับชั้นสูงกว่านั้นไม่ได้   หากพิสูจน์ได้ว่ามีความขัดหรือแย้งดังกล่าว ถือว่ากฎหมายลำดับชั้นต่ำกว่าจะถูกยกเลิกไป


เกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมาย
                 เกณฑ์ที่ใช้กำหนดศักดิ์ของกฎหมายพิจารณาจากองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมาย  กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา  และเป็นการใช้อำนาจในการออกกฎหมายร่วมกันของสองสภา  คือ วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุด  ในขณะที่กฎหมายที่มีลำดับชั้นรองลงมา คือ พระราชบัญญัติ  พระราชกำหนด จะถูกพิจารณาโดยสภาผุ้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงจะผ่านไปยังวุฒิสภา ถือเป็นการแยกกันในการใช้อำนาจออกกฎหมาย (Ordinary laws are voted by the two Chambers deliberating separately) [3]



          เมื่อกฎหมายแต่ละฉบับถูกบัญญัติโดยองค์กรที่มีอำนาจในการออกกฎหมายแตกต่างกัน ผลก็คือ ทำให้กฎหมายแต่ละฉบับมีศักดิ์ของกฎหมายหรือลำดับชั้นของกฎหมายไม่เท่ากัน  โดยลำดับชั้นของกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ หมายถึง ค่าบังคับของกฎหมายแต่ละฉบับจะสูงต่ำแตกต่างกันไป  เช่น รัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศและเป็นกฎหมายแม่บท  กฎหมายฉบับอื่นที่มีลำดับชั้นต่ำกว่า  เช่น พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด  จะมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญไม่ได้ ทั้งนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็น พระราชบัญญัติ  พระราชกำหนด ต่างก็เป็นกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญ คือต้องอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการตราเป็นกฎหมาย  ดังนั้น จึงเม่ากับว่ากฎหมายลูกจะขัดกับกฎหมายแม่ไม่ได้  ถ้ากฎหมายลูกขัดกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นก็มีผลเป็นอันบังคับใช้ไม่ได้

ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
          ในปัจจุบันกฎหมายของประเทศไทย  มีทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษร   กฎหมายจารีตประเพณีและหลักกฎหมายทั่วไป  แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่า  กฎหมายของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่จะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร  ซึ่งกฎหมายลายลักษณ์อักษรแต่ละฉบับจะมีศักดิ์ของกฎหมายหรือลำดับชั้นของกฎหมายที่แตกต่างกัน
          กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายทั้งหมด  พระราชบัญญัติ  พระราชกำหนด  เป็นกฎหมายลูกของกฎหมายรัฐธรรมนูญ  ส่วนพระราชกฤษฎีกา  กฎกระทรวง  กฎหมายองค์กรส่วนท้องถิ่น  เช่น เทศบัญญัติ  ข้อบัญญัติจังหวัด  ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร [4]  เหล่านี้เป็นกฎหมายที่อาศัยพระราชบัญญัติ  พระราชกำหนดในการออกเป็นกฎหมาย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การจัดลำดับศักดิ์ของกฎหมายจึงเรียงตามความเหมาะสมได้ดังต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญ
                 หมายถึงกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดินตลอดจนสิทธิต่างๆ ของประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากกว่ากฎหมายฉบับใด  กฎหมายฉบับอื่นจะบัญญัติโดยมีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้  หากขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ กฎหมายฉบับนั้นจะถือว่าไม่มีผลบังคับใช้
รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้น มีทั้งเป็นลักษณะลายลักษณ์อักษร และลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่ลักษณะไม่เป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากจะใช้หลักของจารีต ประเพณีการปกครองแล้ว กฎหมายทุกตัวที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง ย่อมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญด้วย
ทุกประเทศทั่วโลกมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ทั้งประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมถึงประเทศที่ปกครองระบอบเผด็จการ เพื่อใช้เป็นหลักหรือเป็นแนวทางในการบริหารประเทศ


พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
               เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นในรูปแบบพระราชบัญญัติ ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้มีขึ้นอีกรูปแบบหนึ่งในระบบบทกฎหมายไทย เพื่อกำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นกฎเกณฑ์สำคัญเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ บางมาตราที่บัญญัติหลักการไว้อย่างกว้าง ๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้มีความกระจ่างแจ้ง ชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตามที่รัฐธรรมนูญมอบหมายและกำหนด โดยถือว่ากฎหมายประเภทนี้ มีลักษณะและหลักเกณฑ์พิเศษแตกต่างจากกฎหมายธรรมดา [5]
             อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญไทยมิได้กำหนดศักดิ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้สูงกว่าพระราชบัญญัติทั่วไป ดังนั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจึงมีศักดิ์ในลำดับชั้นเดียวกันกับพระราชบัญญัติ

พระราชบัญญัติ
           เป็นกฎหมายลำดับชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญ เพราะพระราชบัญญัติออกมาเป็นกฎหมายโดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญโดยตรง ซึ่งองค์กรที่ทำหน้าทีในการตราพระราชบัญญัติคือ รัฐสภา ดังนั้น รัฐสภาจะตราพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้
            พระราชบัญญัติคือบทกฎหมายที่ใช้ เพื่อวางระเบียบบังคับความประพฤติของบุคคลรวมทั้งองค์กรและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีฐานะสูงกว่าบทกฎหมายอื่น ๆ นอกจากรัฐธรรมนูญ ก่อนประกาศใช้บังคับ
การตราพระราชบัญญัตินั้นจะทำได้ก็แต่โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา และเมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายได้

พระราชกำหนด
                  พระราชกำหนด ( emergency decree )  เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารในสถานการณ์อันมีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อประโยชน์แห่งรัฐแล้วแต่กำหนดไว้ในกฎหมายแม่ของแต่ละประเทศ พระราชกำหนดมีอำนาจบังคับเช่นพระราชบัญญัติอันตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติ
พระราชกำหนดมีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาร่าง และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรีจึงจะนำร่างนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้บังคับเช่นพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ โดยไม่ต้องนำเสนอร่างพระราชกำหนด เช่นว่าให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน

สถานการณ์ที่จะประกาศใช้พระราชกำหนดได้

              พระราชกำหนดของไทยแบ่งออกเป็นสองประเภทตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2550) ได้แก่
1. พระราชกำหนดทั่วไป ออกได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องปัดพิบัติสาธารณะ
2. พระราชกำหนดเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตรา ออกได้ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรหรือเงินตราซึ่งต้องได้รับพิจารณาโดยด่วนและลับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ทั้งนี้ ภายในระหว่างสมัยประชุมของรัฐสภาเท่านั้น
พระราชกฤษฎีกา
               พระราชกฤษฎีกา คือ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด เพื่อใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ ประมวลกฎหมาย และพระราชกำหนด
การตราพระราชกฤษฎีกา รัฐมนตรีซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องจะอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดนั้นๆ เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณา โดยร่างพระราชกฤษฎีกานั้น จะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้อง
เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว จะต้องนำร่างพระราชกฤษฎีกา ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงตราพระราชกฤษฎีกานั้นๆ นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการจากนั้นจึงนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้ต่อไป





----------------------------------------------------------------------------

[1] ปรีดี เกษมทรัพย์, กฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป, ( กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, 2526 ), หน้า 34.
[2] มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป หน่วยที่ 1-8. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2533), หน้า 118.

[3] Chapter II The defferent kinds of laws and their Hierachy, p.117.

[4]  สมยศ เชื้อไทย, กฎหมายแพ่ง : หลักกฎหมายทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล, 2534 ), หน้า 53.

[5] วิษณุ  เครืองาม, “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิพัฒนาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2541). หน้า 83.

-----------------------------------------------------------------------------------
บรรณานุกรม
-   ปรีดี เกษมทรัพย์, กฎหมายแพ่ง : หลักทั่วไป, กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์, 2526
-   มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป หน่วยที่ 1-8. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2533
-   สมยศ เชื้อไทย, กฎหมายแพ่ง : หลักกฎหมายทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์และทำปกเจริญผล , 2534
-   วิษณุ  เครืองาม, “กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541, กรุงเทพฯ : มูลนิธิพัฒนาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, 2541
-   มานิตย์ จุมปา , ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม คณะนิติศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2540.